บริษัทชั้นนำของโลกปรับปรุงการรายงานสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยติดท็อป 10 ด้านการรายงานความยั่งยืน

องค์กรชั้นนำในประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการรรายงานด้านความยั่งยืน

องค์กรชั้นนำในประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการรรายงานด้านความยั่งยืน

EN | TH

  • ผลการสำรวจล่าสุดจาก เคพีเอ็มจี เปิดเผยว่าแต่ละบริษัทมีการจัดทำรายงานความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทชั้นนำร้อยละ 79 ได้จัดทำรายงานความยั่งยืน
  • บริษัทต่างๆ ปรับปรุงรายงานเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากคาร์บอนอย่างชัดเจน แต่ยังดำเนินการช้าเกินไปในหลายด้านสำคัญ ปัจจุบันบริษัทน้อยกว่าครึ่งที่มีการระบุว่าการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเป็นความเสี่ยง
  • จากการวิเคราะห์รายงานกว่าพันฉบับพบว่า บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกจำนวนน้อยกว่าครึ่งที่มีการรายงานเกี่ยวกับองค์ประกอบ 'สังคม' และ 'บรรษัทภิบาล' ของ ESG
  • เคพีเอ็มจี ได้ให้คำแนะนำต่างๆ ด้านการรายงานความยั่งยืน เช่น บริษัทที่เปลี่ยนจากแนวทางการให้ข้อมูล มาสู่การใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและให้หลักฐานการดำเนินการ

การสำรวจรายงานความยั่งยืนของเคพีเอ็มจี (KPMG Survey of Sustainability Reporting) เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2536 และจัดทำขึ้นทุกๆ สองปี โดยฉบับของปีนี้วิเคราะห์รายงานความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) จาก 5,800 บริษัทใน 58 ประเทศและเขตการปกครอง ผลการสำรวจที่เผยแพร่ในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ายังมีความไม่สอดคล้องระหว่างความเร่งด่วนในการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเท่าเทียมทางสังคม กับ "ผลลัพธ์ที่จับต้องได้" ที่ธุรกิจต้องเปิดเผย

ผลการสำรวจล่าสุดเปิดเผยว่า การรายงานความยั่งยืนได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัท 250 อันดับแรกของโลกหรือที่รู้จักกันในชื่อ G250 เกือบทั้งหมดจัดทำรายงานความยั่งยืน โดยบริษัทในกลุ่มนี้ร้อยละ 96 รายงานด้านความยั่งยืนหรือประเด็น ESG

ในขณะเดียวกัน มีการรายงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอจากกลุ่ม N100 (บริษัท 100 อันดับแรกในแต่ละประเทศหรือเขตการปกครองที่นำมาวิเคราะห์) เมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีเพียงสองในสามของกลุ่มบริษัท N100 เท่านั้นที่จัดทำรายงานความยั่งยืน โดยปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 79

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นประเด็นสำคัญหลัก

ผลการวิจัยล่าสุดเผยให้เห็นว่าธุรกิจต่างๆ ตระหนักมากขึ้นว่าพวกเขามีบทบาทในการช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ โดยร้อยละ 71 ของบริษัทในกลุ่ม N100 และร้อยละ 80 ของกลุ่ม G250 ได้มีการตั้งเป้าหมายการลดคาร์บอน บริษัทส่วนใหญ่ตระหนักว่าต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านคาร์บอน แทนที่จะพึ่งคาร์บอนเครดิต (ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดและกักเก็บได้จากการดำเนินโครงการหรือกลไกลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ) เพียงอย่างเดียว จำนวนบริษัทที่รายงานตามแนวทางของ คณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงินในการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures: TCFD) ได้เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า นำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลสภาพอากาศที่ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายงานยังเผยให้เห็นประเด็นสำคัญที่ยังคังต้องดำเนินการให้เร็วขึ้น โดยบริษัทในกลุ่ม G250 เพียงร้อยละ 64 รายงานอย่างเป็นทางการว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจของตน และปัจจุบันมีบริษัทน้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่รายงานว่าการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเป็นความเสี่ยง

การรายงานความยั่งยืนผ่านเลนส์ ESG

รายงานผลสำรวจประจำปีนี้ยังเน้นถึงความท้าทายอื่นๆ ที่บริษัทชั้นนำของโลกต้องเผชิญเมื่อรายงานด้าน ESG ในบรรดารายงานนับพันฉบับที่ได้ถูกวิเคราะห์ บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกจำนวนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งจัดทำรายงานเกี่ยวกับองค์ประกอบด้าน 'สังคม' (เช่น การกดขี่แรงงาน ความหลากหลายทางเชื้อชาติและเพศ การอยู่ร่วมกันและความเท่าเทียม การมีส่วนร่วมของชุมชน และปัญหาด้านแรงงาน) แม้จะมีความตระหนักมากขึ้นถึงความเชื่อมโยงระหว่างวิกฤตสภาพภูมิอากาศและความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม ในขณะเดียวกัน มีบริษัทน้อยกว่าครึ่งที่เปิดเผยความเสี่ยงด้านบรรษัทภิบาล (เช่น การติดสินบนทุจริตและการต่อต้านการทุจริต พฤติกรรมต่อต้านการแข่งขัน หรือการสนับสนุนทางการเมือง) นอกจากนี้ บริษัท N100 เพียงหนึ่งในสามเท่านั้นที่มีสมาชิกในทีมผู้บริหารทำหน้าที่รับผิดชอบด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะ และบริษัทเหล่านี้จำนวนน้อยกว่าหนึ่งในสี่ เชื่อมโยงความยั่งยืนเข้ากับค่าตอบแทนให้แก่ผู้บริหารธุรกิจ

การเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ยังคงเป็นการให้ข้อมูลเป็นส่วนใหญ่ มากกว่าการเผยแพร่ข้อมูลเชิงปริมาณหรือข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวกับผลกระทบด้านต่างๆ ซึ่งเป็นจุดที่ต้องปรับปรุงสำหรับบริษัททั่วโลกอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตามข้อดีก็คือ สามในสี่ของบริษัทที่จัดทำรายงานความยั่งยืน ได้ดำเนินการประเมินประเด็นสำคัญทางธุรกิจ (Materiality assessments) และเปิดเผยหัวข้อที่มีสาระสำคัญ

จอห์น แมคคาลา-ลีซี ประธานฝ่าย ESG เคพีเอ็มจีอินเตอร์เนชันแนล

จอห์น แมคคาลา-ลีซี ประธานฝ่าย ESG เคพีเอ็มจีอินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า

ปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์จากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) เตือนว่าโลกอยู่ในสถานะ 'โค้ดแดง' ในด้านภาวะโลกร้อนจากกิจกรรมของมนุษย์ และผู้นำทางการเมืองจำนวนหนึ่งให้คำมั่นสัญญาต่อที่ประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (UN Climate Change Conference of the Parties: COP26) ในขณะที่เรามุ่งสู่ COP27 จำเป็นต้องมีการดำเนินการทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรมของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในระดับที่เพิ่มมากขึ้น

การสำรวจรายงานความยั่งยืนปี 2022 ของเคพีเอ็มจี เผยให้เห็นว่ากฎระเบียบกำลังผลักดันความเปลี่ยนแปลง ผมเห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องให้คำแนะนำและทิศทางแก่บริษัทต่างๆ และช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ผู้นำธุรกิจต่างยอมรับว่าพวกเขามีความรับผิดชอบและมีบทบาทในการช่วยชะลอและหลีกเลี่ยงวิกฤติที่กำลังใกล้เข้ามา สิ่งจำเป็นมากในปัจจุบันคือมาตรฐานที่สอดคล้องกันทั่วโลกจากรัฐบาลและความพยายามร่วมกันจากบริษัทใหญ่ๆ ระดับโลกในการรายงานเกี่ยวกับ ESG ในทุกด้าน โดยตระหนักถึงความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างสิ่งแวดล้อมกับประเด็นความเท่าเทียมกันทางสังคม

เจนนิเฟอร์ ชุลแมน ผู้เขียนรายงานร่วม และผู้นำศูนย์ที่ปรึกษาด้าน ESG ระดับโลก

เจนนิเฟอร์ ชุลแมน ผู้เขียนรายงานร่วม และผู้นำศูนย์ที่ปรึกษาด้าน ESG ระดับโลกของเคพีเอ็มจี กล่าวว่า

การประชุมสุดยอด COP26 เผยให้เห็นว่าโลกกำลังเผชิญภัยร้ายแรงด้านสภาพภูมิอากาศ มีตัวแทนจากประเทศและพื้นที่ห่างไกลซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักมาแบ่งปันประสบการณ์ แต่ถึงแม้จะมีความตระหนักเพิ่มขึ้นในองค์ประกอบด้าน คน ของ ESG การสำรวจล่าสุดของเรายังคงเน้นย้ำถึงความท้าทายที่แท้จริงที่ผู้บริหารระดับสูงต้องเผชิญ ซึ่งสะท้อนว่าบริษัทของตนสามารถส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง

เราน่าจะเริ่มเห็นความคืบหน้าภายในปีหน้า เมื่อองค์กรต่างๆ เช่น International Sustainability Standards Board (ISSB) ออกมาตรฐานสากลใหม่สำหรับการรายงาน แต่บริษัทต่างๆ ไม่ควรรอให้ถึงเวลานั้น การตัดสินใจเริ่มโดยผู้นำจากเบื้องบนขององค์กรเป็นสิ่งสำคัญ โรคระบาดทั่วโลกและ การประชุมสุดยอด COP26 ได้ชี้ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้นในสังคม องค์กรใหญ่ๆ หลายแห่งตอบสนองด้วยการดำเนินการเชิงรุกซึ่งควรได้รับการยกย่อง เราเห็นการดำเนินการที่มากขึ้นในด้านความเท่าเทียมทางเพศ ความเท่าเทียมในการจ่ายค่าตอบแทน และการประเมินผลกระทบต่อชุมชน ถึงเวลาแล้วที่องค์กรต่างๆ ต้องมีความโปร่งใสในการรายงานเพื่อเน้นย้ำถึงสิ่งที่พวกเขาประสบความสำเร็จและยึดมั่นรับผิดชอบในส่วนที่จำเป็นต้องมีความคืบหน้าเพิ่มเติม”

ธเนศ เกษมศานติ์ หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เคพีเอ็มจี ประเทศไทย

ธเนศ เกษมศานติ์ หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าวว่า

“การสำรวจพบว่า ร้อยละ 97 ของบริษัท N100 ในประเทศไทย มีการรายงานความยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราที่สูงที่สุดในโลก เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 84 ในปี 2563 ในจำนวนนี้ ร้อยละ 59 มีการทำรายงานความยั่งยืนให้สอดคล้องกับคำแนะนำของ TCFD และร้อยละ 68 ระบุถึงความหลากหลายทางชีวภาพในการรายงาน การเพิ่มขึ้นของการรายงานนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เรื่องแบบรายงาน 'One Report' สำหรับการรายงานปี 2564 ที่ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนและ ESG มากขึ้น”

“ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเรากำลังดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง เนื่องจากประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการมุ่งเน้นไปที่องค์ประกอบด้าน ‘สิ่งแวดล้อม’ ของ ESG แล้ว บริษัทต่างๆ ยังต้องให้ความสำคัญกับองค์ประกอบด้านสังคมและบรรษัทภิบาลด้วย คำแนะนำที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือบริษัทต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับการติดตามและการให้ข้อมูลเชิงปริมาณที่สามารถพิสูจน์ได้ในการรายงานความยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้บริษัทระบุประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญและสร้างคุณค่าให้แก่แผนดำเนินการด้านความยั่งยืน ซึ่งจะช่วยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความยั่งยืนต่อคณะกรรมการบริษัท ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสังคมโดยรวม”

ภาพรวมในระดับภูมิภาค

การรายงานความยั่งยืนมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในสามประเทศตั้งแต่ปี 2563 ได้แก่ ไอซ์แลนด์ (เพิ่มร้อยละ 39) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (เพิ่มร้อยละ 22) และเกาหลีใต้ (เพิ่มร้อยละ 22)

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นผู้นำในการรายงานความยั่งยืน โดยมีบริษัทที่ดำเนินการรายงานความยั่งยืนร้อยละ 89 ตามมาด้วยยุโรป (ร้อยละ 82) อเมริกา (ร้อยละ 74) และตะวันออกกลางและแอฟริกา (ร้อยละ 56)

รายงานประจำปีนี้เน้นถึงความผันแปรในระดับภูมิภาคในแง่เนื้อหาของการรายงานความยั่งยืน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากข้อกังวลที่สำคัญและความแตกต่างด้านกฎระเบียบ ในขณะที่อเมริกาเหนือ (ร้อยละ 97) และยุโรปตะวันตก (ร้อยละ 85) โดดเด่นด้วยอัตราการรายงานโดยรวมสูงสุด ตะวันออกกลาง (ร้อยละ 55) และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ร้อยละ 30) มีความโดดเด่นในด้านการรายงานแบบบูรณาการ ในขณะเดียวกัน ละตินอเมริกา (ร้อยละ 50) มีความโดดเด่นในด้านการรายงานความหลากหลายทางชีวภาพ และแอฟริกามีความโดดเด่นในด้านการรายงานทางสังคมและบรรษัทภิบาล (ร้อยละ 51 และ 49 ตามลำดับ)

การผลักดันสู่การดำเนินการ

ข้อกำหนดด้าน ESG กระตุ้นมุมมองและแนวคิดใหม่ๆ ในกลุ่มผู้บริหาร ผลักดันให้ผู้นำธุรกิจขยายขอบเขตความคิด และทำให้แน่ใจว่าการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์จากบนลงล่างขององค์กร จะให้น้ำหนักกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและประเด็น ESG ด้านอื่นๆ มากขึ้น

รายงานของเคพีเอ็มจีระบุแนวทางรูปธรรมที่ธุรกิจสามารถลงทุนในการรายงานความยั่งยืน ดังนี้

  • เข้าใจความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  • รวมการประเมินประเด็นสำคัญทางธุรกิจเข้ากับการรายงาน
  • จัดทำรายงานให้สอดคล้องกับเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลแบบบังคับ หรือกรอบการเปิดเผยข้อมูลแบบสมัครใจ
  • การลงทุนในการจัดการข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงินที่มีคุณภาพ
  • ทำความเข้าใจผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและประเด็นทางสังคมที่มีต่อธุรกิจ

แรงกดดันต่อธุรกิจในการรายงานต่อตัวชี้วัดที่ไม่ใช่ด้านการเงินนั้นคาดว่าจะเพิ่มขึ้น ตามการออกกฎระเบียบใหม่ๆ การลงมือทำทันทีจะช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถตัดสินใจโดยมีข้อมูลครบถ้วนเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นอย่างมากในการเป็นพลเมืองดีขององค์กรในโลกปัจจุบัน

บรรณาธิการ

การสำรวจรายงานความยั่งยืนของเคพีเอ็มจี เปิดตัวในปี 2536 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความกระจ่างว่าบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีการรายงานเกี่ยวกับการตอบสนองต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศและปัญหาสังคมในวงกว้างอย่างไร การสำรวจในปีนี้เป็นฉบับที่ 12 โดยเคพีเอ็มจี และเป็นฉบับที่มีเนื้อหาครอบคลุมที่สุดในปัจจุบัน โดยนำเสนอผลสรุปในเชิงลึกเกี่ยวกับสถานะการรายงานความยั่งยืนในปี 2565

สำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ:

พลอย พยัฆวิเชียร
อีเมล: ploi@kpmg.co.th

เกี่ยวกับการสำรวจรายงานความยั่งยืนของเคพีเอ็มจี

เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2536 การสำรวจในปี 2565 นี้เป็นฉบับที่ 12 โดยตรวจสอบแนวโน้มการรายงานความยั่งยืนทั่วโลก ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา การรายงานความยั่งยืนเป็นไปโดยสมัครใจเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจุดประสงค์ของการสำรวจนี้คือการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่จะช่วยปรับปรุงระดับการเปิดเผยข้อมูลโดยผู้นำธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน และคณะกรรมการบริษัท

ปัจจุบัน การรายงานความยั่งยืนเป็นไปตามกฎเกณฑ์ข้อบังคับ และสถานการณ์ในการรายงานก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ผลการสำรวจในรายงานนี้สะท้อนถึงสถานะการรายงานในปัจจุบัน สิ่งที่ขาดที่ควรปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านกฎระเบียบ และการพิจารณากลยุทธ์ทางธุรกิจหลักซึ่งอาจทำให้บริษัทต่างๆ สามารถบรรลุข้อกำหนดที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ยังคงสร้างผลกระทบเชิงบวกและสร้างมูลค่าได้

เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี

เคพีเอ็มจี เป็นเครือข่ายระดับโลกของบริษัทที่ให้บริการตรวจสอบบัญชี ภาษี และที่ปรึกษาธุรกิจ เคพีเอ็มจี เป็นแบรนด์ภายใต้บริษัทสมาชิกของ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (“เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล”) ดำเนินการและให้บริการอย่างมืออาชีพ “เคพีเอ็มจี” ใช้เพื่ออ้างถึงบริษัทสมาชิกแต่ละแห่งภายในเครือข่าย เคพีเอ็มจี หรือบริษัทสมาชิกหนึ่งหรือหลายบริษัทรวมกัน

เครือข่าย เคพีเอ็มจี ดำเนินงานใน 144 ประเทศ และเขตการปกครอง โดยมีหุ้นส่วนและพนักงานมากกว่า 236,000 คน ที่ทำงานในบริษัทสมาชิกทั่วโลก KPMG Law และ Global Legal Services ปัจจุบันดำเนินการในเขตการปกครอง 80 แห่ง โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษากฎหมายกว่า 2,850 คน

บริษัท เคพีเอ็มจี แต่ละแห่งเป็นนิติบุคคลที่แตกต่างกัน และแยกจากกันตามกฎหมาย บริษัทสมาชิก เคพีเอ็มจี แต่ละแห่งมีหน้าที่รับผิดชอบและหนี้สินของตนเอง

เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นบริษัทเอกชน ในประเทศอังกฤษ โดยการรับประกัน เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ให้บริการแก่ลูกค้า

ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรได้ที่ home.kpmg/governance

เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย

เคพีเอ็มจี ประเทศไทย มีพนักงานมากกว่า 2,000 คน ซึ่งให้บริการด้านการสอบบัญชีและการให้ความเชื่อมั่นอื่น ภาษี กฎหมายและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เคพีเอ็มจี ประเทศไทยเป็นสมาชิกของ เครือข่ายเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัท เอกชน จำกัด ในอังกฤษ