ข่าวและบทความ | 11 พฤศจิกายน 2563

เคพีเอ็มจี ชี้ ‘แนวคิด ESG’ กุญแจรับมือโลกหลังโควิด-19

เคพีเอ็มจี ชี้ ‘แนวคิด ESG’ กุญแจรับมือโลกหลังโควิด-19

กรุงเทพฯ 11 พฤศจิกายน 2563 – เคพีเอ็มจี ประเทศไทย ชี้แนวโน้มด้านการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) หรือ ESG ยังคงดำเนินต่อไปแม้จะมีวิกฤติโควิด-19 โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระตุ้นให้ ESG เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ยกระดับความสำคัญขึ้นมาเป็นลำดับต้นๆ

ผลกระทบของโควิด-19 ได้เร่งให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ในการนำดิจิทัล (Digital Transformation) และนวัตกรรม (Innovation) มาใช้ รวดเร็วยิ่งขึ้น ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าบริษัทต่างๆ จะให้ความสำคัญกับการตอบสนองต่อภัยคุกคามอันเร่งด่วนมากขึ้น และจะลดลำดับความสำคัญของวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนลง อย่างไรก็ตาม แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) ยังคงได้รับความสนใจและถูกนำมาประยุกต์ใช้

โควิด-19 ไม่ใช่ภัยคุกคามเพียงอย่างเดียวที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม แต่ภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ก็เป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามที่สำคัญในทศวรรษต่อๆ ไป ผลวิจัย KPMG 2020 CEO Outlook1 เผยว่า ซีอีโอทั่วโลกต้องการแก้ไขปัญหาภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ซึ่งสะท้อนจากจำนวนของซีอีโอมากกว่าร้อยละ 65 ที่กล่าวว่า การจัดการความเสี่ยงนี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสามารถในการรักษาตำแหน่งงานของพวกเขาไว้ในอีกห้าปีข้างหน้า และในอนาคต ซีอีโอต้องการสานต่อความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 เช่น การลดการเดินทางเพื่อธุรกิจให้น้อยลง โดยซีอีโอร้อยละ 71 มีความตั้งใจที่จะรักษาสภาพแวดล้อมและคงไว้ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ด้วยเหตุนี้ การมุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืนของธุรกิจจึงไม่ใช่เพียงการพุ่งเป้าไปที่ภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึง ESG ในวงกว้างด้วย ผู้นำธุรกิจจึงกำลังใช้โอกาสนี้ในการประเมินจุดมุ่งหมายขององค์กร (Purpose) ใหม่ เนื่องจากพวกเขารู้สึกว่าจำเป็นต้องมีจุดยืนในประเด็นทางสังคมและการดำเนินการกับความท้าทายทางด้านสิ่งแวดล้อม

อีกหนึ่งผลวิจัยล่าสุดของเคพีเอ็มจี2 เผยให้เห็นว่าผู้นำธุรกิจของบริษัทชั้นนำในทวีปยุโรปหลายรายให้ความสำคัญกับ ESG ในเชิงกลยุทธ์และกล่าวว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นโอกาสสำคัญในการวาง ESG เป็นศูนย์กลางของกลยุทธ์ฟื้นฟูองค์กร โดยโควิด-19 ได้กระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงการกำกับดูแล ESG ในบริษัทขนาดใหญ่ ตลอดจนให้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นในแง่ความสำคัญของบทบาทของบริษัทและผลกระทบต่อสังคม ในขณะที่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นประเด็นสำคัญ แต่ประเด็นทางสังคม เช่น ความปลอดภัย สุขภาพร่างกายและจิตใจ และความครอบคลุมทุกกลุ่มคนในสังคมก็กลายเป็นประเด็นใหม่ที่สำคัญด้วยเช่นกัน

เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานกรรมการบริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว

เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานกรรมการบริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว กล่าวว่าแนวโน้ม ESG ยังคงดำเนินต่อไปแม้จะมีวิกฤติโควิด-19 ดังนั้นธุรกิจต่างๆ จึงต้องคาดการณ์ถึงสภาวะโลกหลังโควิด-19 เพราะองค์กรจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาวิธีในการสร้างความแตกต่างและแข่งขันในสนามธุรกิจท่ามกลางความปรกติใหม่ (New Normal)

ในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดให้มีการเปิดเผยนโยบายและกิจกรรมเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรตั้งแต่ปี 2557 ในขณะที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ประกาศรายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อเป็นแนวทางในการลงทุนในหุ้น ESG ที่เติบโตสูงและเพื่อสนับสนุนบริษัทไทยที่ยั่งยืน โดย ตลท. นิยามบริษัทที่ยั่งยืนว่าเป็นบริษัทที่มีการจัดการบริหารความเสี่ยง การจัดการห่วงโซ่อุปทาน และนวัตกรรม พร้อมทั้งรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล
ในปี 2561 ตลท. ได้จัดทำ ดัชนีความยั่งยืน หรือ SET THSI Index (SETTHSI) ขึ้นเป็นครั้งแรกในตลาดทุนไทย โดยเป็นดัชนีที่ใช้แสดงระดับและความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ท่ามกลางความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ธุรกิจต่างๆ ให้ความสำคัญกับวาระ ESG มากขึ้นโดยบูรณาการความยั่งยืนเข้ากับพันธกิจและกลยุทธ์ขององค์กรเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในปัจจุบัน บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งในประเทศไทยเลือกใช้มาตรฐานการรายงานความยั่งยืน GRI Standards ในการรายงานผลกระทบด้านความยั่งยืนและอีกหลายแห่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI)

พอล ฟลิปส์ หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืน เคพีเอ็มจี ประเทศไทย

“การรายงานข้อมูลผลการดำเนินงานด้าน ESG เป็นประโยชน์ต่อบริษัทในหลายด้าน เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของผู้บริหารในการปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลต่อตลาดทุนและหน่วยงานกำกับดูแล โดยการรายงานข้อมูลประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่น่าเชื่อถือจะทำให้บริษัทได้รับความเชื่อมั่นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ข้อมูลดังกล่าวยังสามารถใช้เทียบในแบบจำลองการให้คะแนนตามเกณฑ์มาตรฐานภายนอกและดัชนีความยั่งยืนต่างๆ เช่น GRI Standards ดัชนี THSI และดัชนี DJSI นอกจากนี้การรายงานและการวิเคราะห์ข้อมูลผลการดำเนินงานด้าน ESG ยังช่วยทำให้กลยุทธ์ของบริษัทมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และช่วยให้เห็นสิ่งที่ต้องพัฒนาเพื่อการเติบโตของธุรกิจ” พอล ฟลิปส์ หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืน เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าว

ผู้ลงทุนสถาบันรายใหญ่กำลังมุ่งหน้าสู่แนวโน้มธุรกิจรักษ์โลกภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในการผนวก ESG เข้ากับการตัดสินใจลงทุน เนื่องจากเป็นหนึ่งในเกณฑ์ที่ช่วยกำหนดผลการดำเนินงานของธุรกิจในระยะยาว และเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากทั้งผู้ออกตราสารหนี้และนักลงทุน บริษัทต่างๆ มีความกระตือรือร้นมากขึ้นในการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยื่น (ESG Bonds) และตราสารหนี้สีเขียว (Green Bonds) เพื่อให้การสนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อม และจนถึงขณะนี้ การออกตราสารหนี้เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ประสบความสำเร็จ

ความตระหนักรู้ถึงผลกระทบทางสังคมขององค์กรเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากโควิด-19 เป็นวิกฤตการณ์ที่มี คน เป็นศูนย์กลาง โดยวิกฤติครั้งนี้ได้เปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตและการทำงานของเราไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของธุรกิจจึงจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านพ้นไป และโควิด-19 จะเร่งให้เกิดการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อสาธารณะเกี่ยวกับบทบาทขององค์กรต่างๆ ในสังคม

ในโลกหลังโควิด-19 ที่สาธารณชนต้องการให้ธุรกิจต่างๆ เพิ่มบทบาทในการจัดการและรับมือกับความท้าทายทางสังคม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเร่งผลักดันให้มีความโปร่งใสเพิ่มมากขึ้น และหน่วยงานกำกับดูแลให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการด้าน ESG มากยิ่งขึ้น ผู้นำธุรกิจจำเป็นต้องเสริมสร้างมุมมองในระยะยาวเกี่ยวกับผลกระทบขององค์กรที่มีต่อสังคมและชุมชนของตน เพื่อให้องค์กรสามารถนำนโยบาย ESG และความตั้งใจดี ไปสู่การลงมือปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้องค์กรเติบโตท่ามกลางความเป็นจริงใหม่ (New Reality) ได้อย่างยั่งยืน” เจริญ กล่าว

 

English version: ESG is at the forefront of corporate strategy in the new reality of a post-COVID-19 world, says KPMG

 

เกี่ยวกับเคพีเอ็มจี

เคพีเอ็มจี เป็นเครือข่ายระดับโลกของบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบบัญชีและการให้ความเชื่อมั่นอื่น ภาษี กฎหมาย และให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เราดำเนินธุรกิจใน 147 ประเทศ และมีพนักงานมากกว่า 219,000 คน ที่ทำงานร่วมกันในเครือข่ายสมาชิกทั่วโลก เคพีเอ็มจีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกดำเนินธุรกิจใน 20 ประเทศและมีพนักงานมากกว่า 46,000 คน

เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย

เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เป็นสมาชิกของ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีเครือข่ายทั่วโลก ซึ่งให้บริการด้านการสอบบัญชีและการให้ความเชื่อมั่นอื่น ภาษี กฎหมายและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ

สำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ:

กัมปนาท อินทร์ด้วง
โทรศัพท์: 02 677 2141
อีเมล: kampanati@kpmg.co.th