ไทยกำหนดให้มีแบบรายงานประจำปีเพื่อรายงานข้อมูลรายการระหว่างกัน

Thailand Tax Updates - 27 December 2019

ไทยกำหนดให้มีแบบรายงานประจำปีเพื่อรายงานข้อมูลรายการระหว่างกัน

เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรกำหนดแบบรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันและมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี หรือที่เรียกว่า  Disclosure Form ให้เป็นแบบรายงานประจำปีสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันตามมาตรา 71 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร  อันสืบเนื่องมาจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรของไทย เรื่องมาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป ทำให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันที่มีรายได้เกินกว่ารายได้ขั้นต่ำตามจำนวนที่จะกำหนดในกฎกระทรวง (ในปัจจุบันแม้กฎกระทรวงยังไม่ออก แต่กรมสรรพากรได้มีแจ้งไว้ว่าเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำที่คาดว่าจะกำหนดในกฎกระทรวง คือรายได้ไม่ต่ำกว่า  200 ล้านบาทต่อปี)  ต้องจัดทำเอกสารเพื่อรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันและมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในรอบระยะเวลาบัญชีและยื่นต่อกรมสรรพากรภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

ในแบบรายงานตามคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดที่ให้ยื่นรายงานจะต้องแสดงชื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันที่ประกอบกิจการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศทั้งหมด  พร้อมทั้งให้ข้อมูลว่าผู้ยื่นรายงานมีธุรกรรมกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวหรือไม่  หากมีผู้ยื่นรายงานจะต้องแสดงข้อมูลมูลค่ารายการระหว่างกันโดยแสดงข้อมูลตามประเภทของธุรกรรมทั้งด้านรายได้และรายจ่าย เช่น  รายได้จากการประกอบกิจการ  รายจ่ายค่าซื้อสินค้า  รายจ่ายค่าซื้อที่ดินอาคารและอุปกรณ์ และรายจ่าย อื่นๆ เช่น ค่าสิทธิ  ค่าบริหาร ค่าบริการทางเทคนิค  ค่าดอกเบี้ย เป็นต้น  

นอกจากนี้ ในแบบรายงานยังกำหนดให้ผู้ยื่นรายงานตอบคำถามว่าผู้ยื่นรายงานมีหน้าที่จัดทำบัญชีตามมาตรฐานบัญชีหรือไม่  ผู้ยื่นรายงานมีการปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันในรอบระยะเวลาบัญชีหรือไม่ หากมีการปรับปรุงแล้วการปรับปรุงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อรายได้ ต้นทุน หรืออัตรากำไรของผู้ยื่นรายงานเพิ่มขึ้นหรือลดลง  และคำถามสุดท้ายคือผู้ยื่นรายงานมีการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินไม่มีตัวตนให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันหรือไม่  จะเห็นได้ว่าข้อมูลที่กรมสรรพากรกำหนดให้ผู้ยื่นแบบรายการเปิดเผยเป็นข้อมูลในเชิงลึกที่รวมไปถึงการเปิดเผยด้วยผู้ยื่นรายการเองว่า รายได้ ต้นทุนและอัตรากำไรมีการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างบริษัทภายในกลุ่มหรือไม่  ซึ่งจากข้อมูลในส่วนนี้กรมสรรพากรสามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการตรวจสอบว่ามีการถ่ายโอนกำไร ระหว่างบริษัทในกลุ่มผ่านการปรับโครงสร้างบริษัทภายในกลุ่มและ/หรือผ่านธุรกรรมระหว่างกันหรือไม่ โดยที่กรมสรรพากรไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อมูลรายได้ ต้นทุน หรือกำไรของบริษัทรวมถึงเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลระหว่างบริษัทในกลุ่มแต่อย่างใด ดังนั้นการเปิดเผยข้อมูลในแบบแสดงรายการจึงสำคัญและทำให้ผู้ยื่นแบบรายการต้องเตรียมพร้อมในการชี้แจงถึงเหตุผลและความเหมาะสมในการปรับปรุงโครงสร้างบริษัทเพื่อแสดงให้กรมสรรพากรเห็นว่าการเพิ่มหรือลดของรายได้ ต้นทุน หรือ กำไรขั้นต้น ไม่ใช่เกิดจากการกระทำเพียงเพื่อถ่ายโอนกำไร

แบบรายงานฉบับนี้กำหนดให้ผู้เสียภาษีมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูล และประมวลรัษฎากรยังได้กำหนดค่าปรับกรณีการแสดงข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้องไว้ด้วย คือไม่เกินสองแสนบาท 

ในอาเซียนปัจจุบันมี 6 ประเทศ คือ  ไทย  อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และ ฟิลิปปินส์ ที่มีมาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอน และทุกประเทศยกเว้นสิงคโปร์ กำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นเป็นรายปี (Disclosure Form) พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี โดยไทย ถือเป็นเป็นประเทศล่าสุดที่มีการกำหนดให้เปิดเผยข้อมูล    ในส่วนของการจัดทำเอกสารราคาโอน (Transfer Pricing Document) ซึ่งเป็นเอกสารที่ผู้เสียภาษีต้องจัดทำนอกเหนือจาก  Disclosure Form  ไทย  อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ยกเว้นฟิลิปปินส์ มีการกำหนดให้ผู้เสียภาษีมีหน้าที่ต้องจัดทำเอกสารราคาโอน

เรื่องราคาโอนยังเป็นประเด็นสำคัญที่ยังมีการพัฒนาในเรื่องของกฎหมายทั้งในส่วนกฏหมายภายในประเทศ และระหว่างประเทศ กิจการที่มีการดำเนินการระหว่างประเทศ จึงควรต้องนำ เรื่องราคาโอน มาเป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาด้วย 

Connect with us