ภาษีมูลค่าเพิ่มในอาเซียน

Thailand Tax Updates - 26 September 2019

เร็วๆ นี้ รัฐบาลไทยได้เห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงการคลังที่ให้ขยายเวลาการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ซึ่งจะสิ้นสุด วันที่ 30 กันยายน 2562 ออกไปอีกหนึ่งปี นั่นหมายความว่าไทยจะใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ อัตราร้อยละ 7  ต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563  การคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ ร้อยละ 7 จะทำให้ประเทศไทยมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่เท่ากับสิงคโปร์ ซึ่งต่ำกว่าปรเทศอื่นๆในอาเซียนที่ใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย และ เวียดนาม ซึ่งจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ขณะที่ฟิลิปปินส์ จัดเก็บที่อัตราร้อยละ 12 ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ในส่วนของมาเลเซีย เนื่องจากได้มีการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้วในปี 2561  มาเลเซียจึงไม่ได้ใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จัดเก็บเป็นภาษีสินค้าและบริการ (SST :  Sale Tax and Service Tax)  แทนโดยมีผลมาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2561  ซึ่งในปัจจุบันภาษีสินค้าที่ใช้บังคับสำหรับการขายสินค้าที่ผลิตในมาเลเซีย และสินค้าที่นำเข้ามาในมาเลเซีย อัตราภาษีสินค้า คือ ร้อยละ 5 และ 10  ส่วนภาษีบริการใช้บังคับสำหรับการบริการที่กฎหมายกำหนดให้เป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีบริการโดยอัตราภาษีบริการ คือร้อยละ 6   ซึ่งก็ถือว่าต่ำกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศสมาชิกอื่นๆ   ในลักษณะเดียวกันเมียนม่า เป็นอีกประเทศที่ไม่ได้ใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มแต่จัดเก็บในรูปภาษีสินค้าและบริการ (Commercial tax ) ซึ่งอัตราภาษีอยู่ที่ ร้อยละ 5 

ภาษีมูลค่าเพิ่มในอาเซียน

ประเทศไทยเองหากไม่มีการขยายระยะเวลา อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของไทยจะเป็น ร้อยละ 10 ซึ่งเป็นอัตรามาตรฐานที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรของไทย  และอยู่ในอัตราเดียวกับประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ที่ใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม  อย่างไรก็ดีสิงคโปร์ได้มีการประกาศว่า สิงคโปร์จะเพิ่มการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากอัตราร้อยละ 7 ในปัจจุบันเป็นร้อยละ 9 ในระหว่างปี 2564 – 2568   ในส่วนประเทศไทยไม่มีการประกาศล่วงหน้าแต่เป็นการขยายปีต่อปี ทุกครั้งเมื่อใกล้จะหมดเวลาขยายอัตราร้อยละ 7 ก็จะมีข่าวว่าไทยสมควรจะเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่  ซึ่งการจะเพิ่มหรือไม่เพิ่มน่าจะมีปัจจัยภายนอกมาเป็นตัวพิจารณาด้วย  จากข่าวประชาสัมพันธ์ของกรมสรรพากร กระทรวงการคลังเสนอให้ขยายการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ออกไปอีกหนึ่งปีนั้นเพราะมีความประสงค์ที่จะลดภาระค่าครองชีพของประชาชนและสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจให้กับภาคเอกชน อันจะทำให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง  รวมทั้งเพื่อสนับสนุนเสถียรภาพและความมั่นคงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ   ทั้งนี้เพราะว่าการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะส่งผลกระทบต่อกำลังการใช้จ่ายของประชาชนเพราะภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีทางอ้อมที่ผู้บริโภคเป็นผู้รับภาระโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้กิจการเป็นผู้เรียกเก็บจากผู้บริโภคและนำส่งกรมสรรพากร  การเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นซึ่งก็จะกระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ 

ในส่วนของผู้ประกอบกิจการแม้ภาษีมูลค่าเพิ่มจะไม่ใช่ภาระต้นทุนของกิจการ เนื่องจากหลักการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มคือผู้ประกอบการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากผลต่างระหว่างภาษีขายที่เรียกเก็บจากลูกค้าหักด้วยภาษีซื้อที่ได้ชำระพร้อมรายจ่าย  แต่การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มย่อมไม่เป็นผลดีต่อกิจการเพราะราคาที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ต้องรับภาระภาษีเป็นคนสุดท้ายน้อยลงได้  กิจการก็อาจขายสินค้าหรือบริการได้น้อยลง ซึ่งโดยรวมก็จะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ   ในอนาคตหากรัฐบาลมีการปรับปรุงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอันทำให้ประชาชนมีเงินเหลือหลังจากชำระภาษีมากขึ้นก็อาจเป็นไปได้ที่อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะเพิ่มขึ้น  เพราะรัฐบาลเองก็ต้องมีรายได้ชดเชย หากลดภาษีประเภทหนึ่งก็คงต้องมีการเพิ่มภาษีอย่างอื่น หรือขยายฐานภาษีเพิ่มเติมเพื่อชดเชยรายได้ของรัฐ   อย่างไรก็ดีข่าวในเรื่องการปรับปรุงภาษีที่ออกมายังไม่มีข้อสรุปชัดเจนเป็นเพียงข่าวว่ากรมสรรพกรกำลังศึกษาอยู่  ก็ต้องติดตามต่อไปว่าทิศทางการปรับปรุงภาษีจะเป็นอย่างไร  อาจคาดการณ์ได้ว่าหากอนาคตมีการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และหรือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจริงแนวโน้มที่ภาษีมูลค่าเพิ่มจะถูกปรับเพิ่มขึ้นย่อมเป็นไปได้มาก    และถ้าเปรียบเทียบกับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ หากอัตราไม่เกินร้อยละ 10ไทยก็ยังอยู่ในสถานะที่ใกล้เคียงกับประเทศสมาชิก

Connect with us