อนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับแก้ไขใหม่ระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์

อนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับแก้ไขใหม่ระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์

เมื่อต้นปีนี้เดือนมีนาคม 2561 ไทยและฟิลิปปินส์ได้มีการลงนามอนุสัญญาความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนฉบับแก้ไข เพื่อแทนฉบับปัจจุบันที่มีผลใช้มาตั้งแต่ปี 2526  ซึ่งฉบับแก้ไขใหม่จะมีผลใช้บังคับ วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป อนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างไทยและฟิลิปปินส์ในฉบับแก้ไขใหม่มีการแก้ไขที่เป็นสาระสำคัญที่เกี่ยวกับอัตราภาษี คือการแก้ไข ข้อ 12 ค่าสิทธิ โดยกำหนดอัตราภาษีที่ประเทศที่ค่าสิทธิเกิดขึ้นสามารถจัดเก็บได้จากเดิมในอัตราร้อยละ 15 และร้อยละ 25 เป็นอัตราเดียวไม่เกินร้อยละ 15  ซึ่งการแก้ไขไม่มีผลกระทบกรณีประเทศไทยเป็นผู้เรียกเก็บภาษีเพราะปัจจุบันประมวลรัษฎากรไทยกำหนดให้กิจการไทยต้องหักภาษีไทยไว้ที่อัตราร้อยละ 15 สำหรับค่าสิทธิ เช่นเดียวกับ ข้อ 10 เงินปันผล ที่แก้ไขจากเดิม ร้อยละ 15 และ ร้อยละ 20 เป็น ร้อยละ 10 ของจำนวนเงินปันผลทั้งสิ้นถ้าเจ้าของผลประโยชน์เป็นบริษัท (ไม่รวมถึง ห้างหุ้นส่วน) ซึ่งมีทุนโดยตรงอย่างน้อยร้อยละ 25 ของทุนบริษัทที่จ่ายเงินปันผล และร้อยละ 15 ของจำนวนเงินปันผลทั้งสิ้นในกรณีอื่น ๆ  ซึ่งการแก้ไขก็ไม่กระทบกรณีประเทศไทยเป็นผู้เรียกเก็บเงินเนื่องจากอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายกรณีจ่ายเงินปันผลให้แก่นิติบุคคลต่างประเทศนั้น ผู้จ่ายไทย ต้องหักภาษีไว้ในอัตราร้อยละ 10  ตามประมวลรัษฎากรไทย

ในส่วนของดอกเบี้ย มีการแก้ไขให้เหลือสองอัตราคือ ร้อยละ 10 กรณีดอกเบี้ยที่ได้จ่ายให้แก่สถาบันการเงินใด ๆ (รวมถึงบริษัทประกันภัย)  และร้อยละ 15 ในกรณีอื่น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาประเทศอื่น ๆ ในปัจจุบันอัตราหักภาษีของไทยกรณีจ่ายดอกเบี้ยคือ ร้อยละ 15 ดังนั้น หากผู้มีถิ่นที่อยู่ในฟิลิปปินส์มีเงินได้ดอกเบี้ยจากไทย จะถูกหักภาษีที่อัตราร้อยละ 15 ซึ่งเป็นอัตราเท่ากับประมวลรัษฎากรไทย ยกเว้นกรณีผู้รับดอกเบี้ยที่ฟิลิปปินส์เป็นสถาบันการเงิน หรือบริษัทประกันภัย จะได้รับการลดอัตราจากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 10 ตามอนุสัญญาภาษีซ้อน แต่ในทางกลับกัน หากผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้รับเงินได้ค่าสิทธิ เงินปันผล และ ดอกเบี้ยจากฟิลิปปินส์  ไทยจะได้ประโยชน์จากการใช้สิทธิตามอนุสัญญาภาษีซ้อน เนื่องจากอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายของฟิลิปปินส์ สำหรับค่าสิทธิ และ เงินปันผลภายใต้กฎหมายภายในของฟิลิปปินส์ คือ ร้อยละ 30 และสำหรับดอกเบี้ยคือร้อยละ 20  ดังนั้น เมื่อผู้จ่ายเงินได้ในฟิลิปปินส์ จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในไทย ควรจะหักภาษี ในอัตราร้อยละ 15 สำหรับค่าสิทธิ  และดอกเบี้ย  (ลดเหลือร้อยละ 10 กรณีผู้รับไทยเป็นสถาบันการเงินหรือบริษัทประกัน) และร้อยละ 10 สำหรับเงินปันผล ตามอนุสัญญาภาษีซ้อนดังนั้น หากบริษัทไทยที่มีรายได้ดังกล่าวจากฟิลิปปินส์ ควรจะตรวจสอบกับผู้จ่ายเงินในฟิลิปปินส์และยืนยันความเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในไทยเพื่อใช้สิทธิลดอัตราภาษีตามอนุสัญญาภาษีซ้อน โดยทั่วไปแล้วผู้จ่ายเงินได้ในฟิลิปปินส์ จะขอให้ผู้มีเงินได้หรือผู้รับเงินแสดงหลักฐานว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยเพื่อการใช้สิทธิภายใต้อนุสัญญาภาษีซ้อน ซึ่งหลักฐานดังกล่าวคือหนังสือรับรองการมีถิ่นที่อยู่ (Certificate of Resident) ที่ออกโดยกรมสรรพากรของไทย บริษัทไทยจึงควรจัดให้มีหนังสือรับรองการมีถิ่นที่อยู่จากกรมสรรพากรไทยมาแสดงแก่ผู้จ่ายเงินได้ในฟิลิปปินส์ เพื่อใช้อัตราภาษีที่ต่ำลงภายใต้อนุสัญญาภาษีซ้อน  เพราะหากบริษัทไทยถูกหัก ที่ร้อยละ 30 ตามกฎหมายภายในของฟิลิปปินส์แล้ว จะนำมาเป็นเครดิตภาษีได้เพียงไม่เกินภาษีไทย คือ ร้อยละ 20 นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอัตราภาษี การแก้ไขอื่นๆที่สำคัญ เช่น การแก้ไขบทที่เกี่ยวกับการให้บริการส่วนบุคคล  ซึ่งใช้สำหรับกรณีการพิจารณาภาระภาษีของบุคคลธรรมดาหากบุคคลธรรมดามีรายได้จากการจ้างแรงงานหรือบริการวิชาชีพ หรือ บริการอื่นๆ โดยเป็นการทำงานในอีกประเทศหนึ่ง

ฉบับแก้ไขได้มีการแยกการพิจารณาภาระภาษีของบุคคลธรรมดากรณีการให้บริการส่วนบุคคลที่เป็นอิสระ และ บริการส่วนบุคคลที่ไม่เป็นอิสระต่างหากกัน จากเดิมที่มีเพียง “บริการส่วนบุคคล”  ในฉบับแก้ไข  ข้อ 14 “บริการส่วนบุคคลที่เป็นอิสระ”  จะเป็นกรณีที่บุคคลกระทำกิจการด้วยตนเอง ไม่ได้เป็นลูกจ้างใครมีรายได้จากการให้บริการวิชาชีพหรือกิจกรรม อื่น ๆ ที่มีลักษณะเป็นอิสระ  เช่นกรณี บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในไทยรับทำงานให้แก่บริษัทฟิลิปปินส์ ได้รับค่าบริการโดยตรงจากผู้ว่าจ้างในฟิลิปปินส์  ส่วนข้อ 15 “บริการส่วนบุคคลที่ไม่เป็นอิสระ” จะนำมาใช้กรณีการบริการที่เกิดจากลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง  เช่น  บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในไทยเป็นลูกจ้างของบริษัทไทยมีรายได้จากการจ้างแรงงานโดยเข้าไปทำงานในฟิลิปปินส์ตามคำสั่งของนายจ้างไทย  กรณีนี้ลูกจ้างจะได้รับเป็นเงินเดือนจากนายจ้างไทย  การพิจารณาว่าจะใช้ข้อไหนสำหรับบุคคลธรรมดาจึงต้องพิจารณาก่อนว่าเป็นกรณีบริการส่วนบุคคลที่เป็นอิสระ หรือ ไม่เป็นอิสระ ดังกล่าว

ทั้งนี้ ยังมีการแก้ไขข้ออื่นๆ อีก เช่น การแก้ไขความหมายของสถานประกอบการถาวรในข้อ 5  ของอนุสัญญาภาษีซ้อน การขยายการเสียภาษีโดยสถานประกอบการถาวรในข้อ 7 กำไรจากธุรกิจ  เป็นต้น หากกิจการไทยใดมีธุรกรรมกับวิสาหกิจในฟิลิปปินส์ และได้ใช้สิทธิประโยชน์ตามอนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับปัจจุบันเพื่อบรรเทาภาระภาษีแล้วควรจะต้องตรวจสอบว่าอนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับแก้ไขใหม่จะทำให้ภาระภาษีเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่  เพื่อจะได้เตรียมพร้อมก่อนการมีผลบังคับใช้ในปีหน้า 

Post Today, 27 June 2018 คอลัมน์: ครบคิดพิชิตเออีซี

อัตราภาษีตามอนุสัญญาภาษีซ้อนไทยกับฟิลิปปินส์*

   ใช้ถึง  31 ธันวาคม 2561  เริ่ม 1 มกราคม 2562*
ค่าสิทธิ 

ก. ร้อยละ  15 กรณีผู้จ่ายได้รับการส่งเสริมการลงทุน หรือ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฟิล์มภาพยนตร์หรือเทปบันทึกภาพสำหรับโทรทัศน์หรือการกระจายเสียง

ข. ร้อยละ 25  กรณีอื่นๆ 

ร้อยละ 15
เงินปันผล  

ก.  ร้อยละ 15 ของเงินปันผลทั้งสิ้น ถ้าบริษัทที่จ่ายเงินปันผลเป็นบริษัทของประเทศฟิลิปปินส์หรือถ้าบริษัทที่จ่ายเงินปันผลเป็นบริษัทของประเทศไทยที่ดำเนินกิจการอุตสาหกรรม

ข. ร้อยละ 20 ของเงินปันผลทั้งสิ้น ถ้าบริษัทที่จ่ายเงินปันผลเป็นบริษัทของประเทศไทยซึ่งมิได้ดำเนินการอุตสาหกรรม 

(ก) ร้อยละ 10 ของจานวนเงินปันผลทั้งสิ้น ถ้าเจ้าของผลประโยชน์เป็นบริษัท (ไม่รวมถึง ห้างหุ้นส่วน) ซึ่งมีทุนโดยตรงอย่างน้อยร้อยละ 25 ของทุนบริษัทที่จ่ายเงินปันผล

(ข) ร้อยละ 15 ของจานวนเงินปันผลทั้งสิ้น ในกรณีอื่นๆ 

ดอกเบี้ย 

ก.   ร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยทั้งหมด ถ้า

  (1) ดอกเบี้ยนั้นเกิดขึ้นในประเทศไทย และได้รับโดยสถาบันการเงินของฟิลิปปินส์ (รวมทั้งบริษัทประกันภัย)

  (2) ดอกเบี้ยนั้นเกิดขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์ในส่วนที่เกี่ยวกับการออกพันธบัตรหุ้นกู้หรือข้อผูกมัดอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันต่อสาธารณะ

ข. ร้อยละ 15 ของดอกเบี้ยทั้งหมด ถ้าดอกเบี้ยนั้นเกิดขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์ และ

ค. ร้อยละ 25 ของดอกเบี้ยทั้งหมด ถ้าดอกเบี้ยนั้นเกิดขึ้นในประเทศไทย

(ก) ร้อยละ 10 ของจานวนดอกเบี้ยทั้งสิ้น ถ้าได้รับโดยสถาบันการเงินใด ๆ (รวมถึงบริษัทประกันภัย)

(ข) ร้อยละ 15 ของจานวนดอกเบี้ยทั้งสิ้น ในกรณีอื่นๆ

*หมายเหตุ: ควรตรวจสอบอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ เพิ่มเติม

Connect with us