แนวโน้มการแข่งขันด้วยมาตรการภาษีอาจลดลง

แนวโน้มการแข่งขันด้วยมาตรการภาษีอาจลดลง

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงต่อภาษีเงินได้ และภาษีอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้การจัดเก็บของแต่ละประเทศ ภาระภาษียังคงเป็นไปตามกฎหมายภาษีภายในของแต่ละประเทศสมาชิก เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของการเข้ามาลงทุนในอาเซียนจากกลุ่มประเทศนอกอาเซียนเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ที่จะได้จาก AEC ดังนั้น แต่ละประเทศในอาเซียนจึงมีการนำมาตรการทางด้านภาษี มาเป็นตัวจูงใจนักลงทุนต่างประเทศเพื่อให้เข้ามาลงทุนในประเทศของตน

1000

Author

Benjamas K.

Tax Advisor

KPMG in Thailand

Email
แนวโน้มการแข่งขันด้วยมาตรการภาษีอาจลดลง

ในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากการลดอัตราภาษีเงินได้แล้ว ยังมีการปรับปรุงในเรื่องการให้สิทธิพิเศษทางภาษีต่าง ๆ ในปัจจุบัน ประเทศสมาชิกอาเซียนมีการให้การส่งเสริมโดยให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นทั้งหมด หรือลดอัตราภาษีสำหรับนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในประเทศของตน รวมถึงการออกมาตรการหรือปรับปรุงมาตรการเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้นักลงทุนเข้ามาใช้ประเทศของตนเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคในการดำเนินกิจการค้าระหว่างประเทศ หรือการใช้ประเทศตนเป็นฐานในการให้บริการภายในกลุ่ม หรือการเป็นศูนย์บริหารการเงินของกลุ่มบริษัท  

 

นอกจากปัจจัยในเรื่องของเงื่อนไขการจัดตั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเรื่องหนึ่งที่สมาชิกอาเซียนนำมาจูงใจนักลงทุน  ซึ่งประเทศที่มักถูกนำมาเปรียบเทียบหากนักลงทุนกำลังมองหาจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวในอาเซียน มักจะได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และไทย เนื่องจากทั้ง 4 ประเทศนี้มีการส่งเสริมในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี

 

อย่างไรก็ดีในอนาคตการแข่งขันกันด้วยมาตรการภาษีดังกล่าวอาจจะไม่สามารถทำได้อันเป็นผลมาจากโครงการป้องกันการถูกกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ (Base Erosion and Profit Shifting: BEPS) ของ องค์การเพื่อความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD)  ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีรายชื่อในประกาศของ OECD และมีการตกลงเข้าร่วมโครงการ BEPS ได้แก่ ประเทศบรูไน มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซียและไทย  

 

ทั้งนี้ OECD ได้ดำเนินการทบทวนมาตรการภาษีในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในฐานะที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ BEPS และในระหว่างการทบทวนนั้น ปรากฏว่ามาตรการภาษีของไทยที่ถูกจัดอยู่ใน "แนวทางปฏิบัติด้านภาษีที่เป็นภัย" หรือ “Harmful Tax Practices” ในรายงานความคืบหน้าของ OECD เกี่ยวกับมาตรการภาษีที่เป็นภัยที่ออกเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งรายงานฉบับนี้ได้มีการพูดถึง มาตรการภาษีที่ถือว่าเป็นภัยในการที่อาจถูกนำมาใช้ในการวางแผนภาษีเพื่อถ่ายโอนกำไรจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งได้ ปรากฏว่า 5 มาตรการของไทยได้ถูกกล่าวถึงในรายงานของ OECD ฉบับนี้ ได้แก่ สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (Regional Headquarter)  สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarter) สำนักงานการค้าระหว่างประเทศ (International Trading) ศูนย์บริหารเงิน (Treasury Center)  และกิจการวิเทศธนกิจ (International Banking Facilities) 

 

ในรายงานมีการกล่าวถึงว่า ประเทศไทยจะมีการพิจารณาแก้ไขหรือยกเลิกมาตรการดังกล่าวซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลจากภาครัฐเปิดเผยในเรื่องการแก้ไขแต่อย่างไร ในทิศทางเดียวกับรายงานของ OECD เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2560 คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (EU ) ได้ออกรายงานระบุประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือสำหรับวัตถุประสงค์ด้านภาษี (The EU list of non-cooperative jurisdictions for tax purposes ) ในรายงานของอียูฉบับนี้ ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซียและเวียดนาม มีรายชื่ออยู่ในกลุ่มของประเทศที่ยังไม่ถือว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ด้านความโปร่งใสและการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรมของสหภาพยุโรป แต่อยู่ในรายชื่อที่ต้องมีการทบทวนเมื่อพันธกรณีที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสหภาพยุโรปเสร็จสิ้นลง  ทั้งนี้มีกำหนดระยะเวลาว่าจะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีให้แล้วเสร็จภายใน ธันวาคม 2561

 

นอกจากนี้ สหภาพยุโรปกำลังเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกเข้าร่วมในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องและเพื่อใช้มาตรการป้องกันที่จำเป็นทั้งในด้านที่ไม่เกี่ยวกับภาษีและด้านภาษี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกมาตรการป้องกันที่คาดว่าอาจจะถูกนำมาใช้โดยประเทศสมาชิก เช่น การไม่ให้ประเทศสมาชิกสหภาพนำเงินได้ที่จ่ายไปให้แก่ประเทศที่มีรายชื่ออยู่ในประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ  (Back List)  ที่เกิดจากมาตรการภาษีที่เป็นภัยมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือการกำหนดให้มีภาษีหัก ณ ที่จ่าย เมื่อประเทศสมาชิกสหภาพมีการจ่ายเงินได้ออกไปให้แก่ประเทศ Black List เป็นต้น 

 

ทั้งนี้ ยังไม่แน่ชัดว่ามาตรการตอบโต้จะเป็นเช่นไร ถึงแม้ในรายงานของสหภาพยุโรปฉบับนี้ประเทศไทยไม่ได้อยู่ใน Black List ของรายชื่อประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ แต่อยู่ใน Grey List ซึ่งตามรายงานของสหภาพยุโรปประเทศไทยได้ให้คำยืนยันที่จะแก้ไขหรือยกเลิกมาตรการภาษีที่ถือว่าเป็นภัยต่อการเสียภาษีอย่างเป็นธรรมภายในธันวาคม 2561 หากรัฐบาลไทยไม่ดำเนินการใด ๆ การใช้มาตรการโต้ตอบมาตรการภาษีที่เป็นภัยของประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปต่อประเทศไทยอาจส่งผลเสียต่อความตั้งใจของกลุ่มประเทศในยุโรปที่จะใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์การบริหารในอนาคต นอกจากนี้ อาจทำให้ศักยภาพการแข่งขันในอาเซียนของไทยลดลง ทั้งนี้ ในรายงานของอียู ประเทศสิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่ให้ความร่วมมือ (Fully Compliant) และในรายงานของ OECD ไม่มีมาตรการภาษีของสิงคโปร์ที่ถูกระบุว่าอาจเป็นภัย 

© 2024 KPMG Phoomchai Tax Ltd., a Thailand limited liability company and a member firm of the KPMG network of independent member firms affiliated with KPMG International Cooperative (“KPMG International”), a Swiss entity. All rights reserved.

KPMG International Cooperative (“KPMG International”) is a Swiss entity.  Member firms of the KPMG network of independent firms are affiliated with KPMG International. KPMG International provides no client services. No member firm has any authority to obligate or bind KPMG International or any other member firm vis-à-vis third parties, nor does KPMG International have any such authority to obligate or bind any member firm.

Connect with us