Thailand Tax Updates - 29 September 2016

Thailand Tax Updates - 29 September 2016

สรรพากรไทยส่งเสริมให้ประกอบกิจการในรูปนิติบุคคล

1000

Author

Benjamas K.

Tax Advisor

KPMG in Thailand

Email
Business

สรรพากรไทยส่งเสริมให้ประกอบกิจการในรูปนิติบุคคล

เร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรีได้ เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคล โดยมีวัตถูประสงค์ที่จะเป็นการขยายฐานภาษีอย่างยั่งยืนในระยะยาว และโปร่งใส และปิดช่องโหว่การจัดเก็บภาษี เนื่องจากมาตรการดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดทำบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะยังผลให้กรมสรรพากรสามารถตรวจสอบธุรกรรมต่างๆ ได้ง่ายกว่า

 

กรมสรรพากรคาดว่าจะมีผู้ประกอบการนิติบุคคลเพิ่มขึ้น 250,000 ราย ทำให้รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นปีละ 4,200 ล้านบาท ซึ่งสาระสำคัญของมาตรการดังกล่าว รวมถึงการกำหนดอัตราการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (7) (รายได้จากการรับเหมา) และ (8) (รายได้จากการค้า) แห่งประมวลรัษฎากรให้ลดลงเหลือ 60% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 และ ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการโอนทรัพย์สินที่บุคคลธรรมดาโอนให้กับบริษัทที่จัดตั้งใหม่ เพื่อใช้เป็นทุนเริ่มต้นในนิติบุคคล มีผลตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 นอกจากนี้บริษัทที่มีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทในวันสุดท้ายของรอบบัญชี สามารถนำรายจ่ายที่เกิดจากการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ ค่าทำบัญชี และค่าสอบบัญชี มาหักเป็นรายจ่ายได้สองเท่า เป็นเวลาห้ารอบบัญชี และกระทรวงมหาดไทยจะลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดของผู้ถือหุ้นเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่นิติบุคคลที่จัดตั้งใหม่ตามมาตรการนี้ จาก 2% เหลือ 0.01%

 

อาจจะเกิดคำถามว่าแล้วจะมีผลดี ผลเสียอย่างไรในการประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล หากพิจารณาจากอัตราภาษี ที่ปัจจุบันอัตราภาษีของภาษีเงินได้นิติบุคคลคือ ร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ และ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายเงินปันผลร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้แล้ว อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องเสียรวมอยู่ที่ร้อยละ 28 ของกำไรสุทธิ  ขณะที่ในปัจจุบันอัตราภาษีสูงสุดของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคือร้อยละ  35 สำหรับเงินได้ที่เกิน 4 ล้านบาทซึ่งจะเพิ่มเป็น 5 ล้านบาทในปี 2560 แล้วดูเหมือนว่าการประกอบกิจการในรูปนิติบุคคลน่าจะเสียภาษีน้อยกว่าหากกิจการมีรายได้มากกว่า 5 ล้านบาท นอกจากนี้กิจการที่มีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทในวันสุดท้ายของรอบบัญชี ยังได้สิทธิยกเว้นภาษีสำหรับ กำไรสุทธิ แรก 300,000 บาท และยังได้ลดภาษีจากอัตราร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 15 สำหรับส่วนที่เกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาทอีกด้วย

 

ดังนั้นถ้าดูแค่อัตราภาษีการประกอบกิจการในรูปนิติบุคคลน่าจะเสียภาษีที่น้อยกว่าเมื่อกิจการขยายตัวมากขึ้น อีกทั้งหากกิจการมีค่าใช้จ่ายจริงที่มากกว่ารายได้ ก็ยังสามารถนำขาดทุนที่เกิดขึ้นไปหักออกจากกำไรในปีถัดมาได้ไม่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญชีอีกด้วย ซึ่งกรณีบุคคลธรรมดาจะไม่สามารถนำขาดทุนไปใช้ในปีถัดไปได้ เมื่อดูอัตราภาษีเงินได้ในประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ก็จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่เกินอัตราสูงสุดของอัตราภาษีบุคคลธรรมดา ในส่วนของภาษีทางอ้อมอื่นๆ เช่นภาษีมูลค่าเพิ่มไม่มีความแตกต่างไม่ว่าจะประกอบกิจการในนามบุคคลธรรมดาหรือในนามของนิติบุคคลเพราะ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ที่จะรับภาระคือผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ โดยไม่คำนึงว่าผู้ขายหรือผู้ให้บริการจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล แต่ที่เป็นภาระเพิ่มเติมก็คือภาษีหัก ณ ที่จ่ายเนื่องจากไทยมีรายการที่นิติบุคคลต้องหักภาษีเมื่อมีการจ่ายค่าใช้จ่ายทั้งในและต่างประเทศอยู่หลายรายการ ในส่วนนี้จึงเป็นภาระหน้าที่ที่กิจการจะต้องดำเนินการให้ถูกต้อง เพราะหากไม่ได้หักภาษีหรือหักผิด ตัวกิจการเองก็จะถูกเรียกเก็บค่าภาษีที่ไม่ได้หักหรือหักขาด รวมทั้ง เงินเพิ่มได้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่กิจการต้องศึกษาและทำความเข้าใจหากจะเปลี่ยนเป็นนิติบุคคล

 

อย่างไรก็ดีอาจจะมีปัจจัยอื่นในการพิจารณานอกเหนือจากเรื่องของภาษี เช่น เรื่องของความน่าเชื่อถือ โดยทั่วไปการเป็นนิติบุคคลซึ่งต้องมีการจดทะเบียนกับทั้งกระทรวงพาณิชย์และกรมสรรพากรย่อมทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง เพราะข้อมูลของนิติบุคคลสามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะหากกิจการมีความประสงค์จะขยายกิจการโดยใช้โอกาสของ เออีซี ในการขยายฐานลูกค้า การประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคลน่าจะได้รับโอกาสที่ดีกว่าการทำกิจการในรูปบุคคลธรรมดา ในอาเซียนเองก็มีหลาบประเทศที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมแก่นิติบุคคล เช่น อัตราภาษีเงินได้ที่ลดลงกรณีเป็นกิจการขนาดย่อมตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ หรือ การให้หักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้นเช่นถ้ามีค่าใช้จ่ายการวิจัยพัฒนา

 

หากเลือกประกอบกิจการในรูปนิติบุคคลแล้วกิจการควรจะต้องจัดให้มีระบบที่เหมาะสมในการจัดทำบัญชี รวมถึงการจัดทำและจัดเก็บเอกสารประกอบการลงบัญชีต่างๆ เพราะเหตุที่กรมสรรพากรสนับสนุนให้ประกอบกิจการเป็นนิติบุคคลนั้นก็จะช่วยให้เพิ่มผู้เสียภาษีในระบบและสามารถตรวจสอบและเข้าถึงได้ง่ายกว่ากรณีการประกอบกิจการในรูปบุคคลธรรมดา  

 

ประเทศสมาชิก อัตราภาษีบุคคลธรรมดาสูงสุด* อัตราภาษเงินได้นิติบุคคล*
บรูไน ไม่มี 20%
กัมพูชา 20% 20%
อินโดนีเซีย 30% 25%
ลาว 24% 24%
มาเลเซีย 25% 25%
พม่า 20% 25%
ฟิลิปปินส์ 32% 30%
สิงคโปร์ 20% 17%
ไทย 35% 20%
เวียดนาม 35% 20%

 

*หมายเหตุ:  เป็นข้อมูลเบื้องต้น ควรตรวจสอบรายละเอียดกฎหมายของแต่ละประเทศเพิ่มเติม 

© 2024 KPMG Phoomchai Tax Ltd., a Thailand limited liability company and a member firm of the KPMG network of independent member firms affiliated with KPMG International Cooperative (“KPMG International”), a Swiss entity. All rights reserved.

KPMG International Cooperative (“KPMG International”) is a Swiss entity.  Member firms of the KPMG network of independent firms are affiliated with KPMG International. KPMG International provides no client services. No member firm has any authority to obligate or bind KPMG International or any other member firm vis-à-vis third parties, nor does KPMG International have any such authority to obligate or bind any member firm.

Connect with us