Thailand Tax Updates - 28 October 2016

Thailand Tax Updates - 28 October 2016

อนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับแก้ไขใหม่ระหว่างไทยกับสิงคโปร์จะมีผลบังคับ 1 มกราคม 2560

1000

Author

Benjamas K.

Tax Advisor

KPMG in Thailand

Email
อนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับแก้ไขใหม่ระหว่างไทยกับสิงคโปร์จะมีผลบังคับ 1 มกราคม 2560

อนุสัญญาความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน หรือที่เรามักจะเรียกสั้นๆ ว่า อนุสัญญาภาษีซ้อน เป็นการทำสัญญาแบบทวิภาคี เพื่อขจัดความซ้ำซ้อนของภาษีที่เก็บจากเงินได้ตัวเดียวกันที่กิจการอาจต้องเสียภาษีให้มากกว่าหนึ่งประเทศอันเนื่องมาจากความแตกต่างในหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีภายในของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ไทยและสิงคโปร์ได้มีการเจรจาแก้ไขอนุสัญญาฉบับปัจจุบันที่มีผลใช้มาตั้งแต่ปี 2519 ซึ่งฉบับแก้ไขใหม่จะมีผลใช้บังคับ วันที่ 1 มกราคม 2560 ซึ่งในฉบับแก้ไขใหม่มีการแก้ไขที่มีสาระสำคัญๆ อันมีผลให้ภาระภาษีเปลี่ยนไปอยู่หลายเรื่อง

 

ดังนั้นหากกิจการไทยใดมีธุรกรรมกับวิสาหกิจในสิงคโปร์ และได้ใช้สิทธิประโยชน์ตามอนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับปัจจุบันเพื่อบรรเทาภาระภาษีแล้วจะต้องตรวจสอบว่าอนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับใหม่จะทำให้ภาระภาษีเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ และมีความจำเป็นต้องมีการตกลงเพื่อแก้ไขสัญญากันใหม่หรือไม่ เพราะถ้าปัจจุบันมีการตกลงราคากันโดยที่ไม่มีภาระภาษีหากต่อมามีภาระภาษีที่ต้องชำระให้รัฐบาลไทยตามอนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับแก้ไขใหม่อาจทำให้ต้นทุนสูงขึ้น หรือมีผลต่อราคาที่เคยตกลงกันโดยไม่มีภาระภาษี นอกจากนี้หากกิจการไทยกำลังจะมีธุรกรรมกับวิสาหกิจในสิงคโปร์ จะต้องพิจารณาโดยใช้อนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับแก้ไขใหม่ดังนั้นวันนี้จึงจะขอเขียนประเด็นสำหรับบางธุรกรรมระหว่างประเทศ ที่มีการแก้ไขและทำให้ภาระภาษีเปลี่ยนไปทั้งในกรณีที่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่นอัตราภาษีลดลง และกรณีที่มีภาระเพิ่มขึ้น กล่าวคือมีภาระภาษีจากเดิมที่ไม่เคยเสีย เป็นต้น

 

เรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญคือการแก้ไข ข้อ 12 ค่าสิทธิ โดยกำหนดอัตราภาษีที่ประเทศที่ค่าสิทธิเกิดขึ้นสามารถจัดเก็บได้จากเดิมในอัตราเดียวไม่เกินร้อยละ 15 เป็นสามอัตราคือ ไม่เกินร้อยละ 5, 8 และ 10 ตามประเภทของค่าสิทธิ และยังเพิ่มนิยามค่าสิทธิให้รวมถึงสิทธิในการใช้อุปกรณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือ วิทยาศาสตร์ ซึ่งมีผลให้สามารถจัดเก็บภาษีจากค่าตอบแทนในการได้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าว หรือ ค่าเช่าสังหาริมทรัพย์นั่นเอง

 

ยกตัวอย่างเช่นในกรณีที่บริษัทไทยจ่ายค่าเช่าอุปกรณ์ไปให้บริษัทสิงคโปร์ ตามประมวลรัษฎากรไทย บริษัทผู้จ่ายในไทยต้องหักภาษีในอัตราร้อยละ 15 แต่ภายใต้อนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับปัจจุบัน บริษัทไทยได้รับยกเว้นให้ไม่ต้องหัก ภาษีแต่อย่างไร แต่เมื่ออนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับใหม่มีผลบังคับใช้บริษัทไทยต้องหักภาษีเมื่อจ่ายค่าเช่าไปสิงคโปร์ในอัตราร้อยละ 8  ข้อนี้จึงเป็นข้อหนึ่งที่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ หากมีค่าใช้จ่ายค่าเช่าสังหาริมทรัพย์ที่ต้องชำระไปสิงคโปร์ค้างจ่ายอยู่ กิจการอาจจะพิจารณาชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 31 ธันวาคม 2559 เพื่อใช้สิทธิยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายในประเทศไทยภายใต้อนุสัญญาฉบับปัจจุบัน แม้ว่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายจะไม่ใช่ภาระภาษีของผู้จ่ายคือกิจการไทย แต่หากทางผู้ให้เช่าสิงคโปร์ ใช้ประโยชน์ของอนุสัญญาซ้อน ในการกำหนดราคา ผู้เช่าสิงคโปร์อาจจะไม่ได้คาดว่าจะได้รับเงินน้อยลง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบสัญญาด้วยว่าภาระภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั้นใครมีหน้าที่รับภาระ หากผู้เช่าไทยต้องรับภาระภาษีแล้วจะทำให้ผู้เช่าไทยมีต้นทุนเพิ่มขึ้นได้

 

ในทางกลับกันกิจการไทยอาจจะเลื่อนการชำระค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าสิทธิตัวอื่นๆ ออกไปจ่ายหลังวันที่ 1 มกราคม 2560 เพื่อใช้อัตราภาษีที่ลดลงจากเดิมร้อยละ 15 เป็น ร้อยละ 5 หรือ ร้อยละ 10 ตามประเภทของค่าสิทธิ เช่น กิจการไทยมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับซอร์ฟแวร์ที่ต้องจ่ายให้แก่วิสาหกิจสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันกิจการไทยต้องหัก ภาษีไทยไว้ที่อัตราร้อยละ 15  ในขณะที่ถ้าจ่ายหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2559 อัตราภาษีจะลดลงเหลือร้อยละ 5 ตามอนุสัญญาฉบับแก้ไขใหม่ ซึ่งจะทำให้สิงคโปร์ได้รับเงินเพิ่มถึงร้อยละ 10 หรือหากกิจการไทยเป็นผู้รับภาระภาษีหัก ณ ที่จ่าย ต้นทุนก็จะลดลง ในกรณีที่ภาษีหัก ณ ที่จ่ายในไทยไม่ใช่ภาระของผู้จ่ายไทยแล้ว กิจการไทยควรจะใช้ประโยชน์จากข้อนี้ในการเจรจาเพื่อขอปรับปรุงราคา นี่เป็นเพียงตัวอย่างการแก้ไขที่มีสาระสำคัญบางส่วน ซึ่งกิจการควรตรวจสอบเพิ่มเติมในธุรกรรมอื่นๆ หากได้ใช้ประโยชน์จากอนุสัญญาซ้อนอยู่

 

ทั้งนี้หนึ่งในมาตรการภาษีของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนรวมถึงการที่ให้สมาชิกอาเซียนเร่งจัดทำอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างกันให้ครบทุกประเทศ ในปัจจุบันไทยยังไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับบรูไน และกัมพูชา ซึ่งทราบว่ารัฐบาลไทยกำลังเจรจากับกัมพูชาอยู่ ทั้งนี้เมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้กัมพูชาเพิ่งจะได้เซ็นอนุสัญญาภาษีซ้อนกับสิงคโปร์ เป็นประเทศแรก การมีอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างกันย่อมเป็นตัวช่วยในการจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศสมาชิก โดยเฉพาะถ้าจะใช้ประเทศสมาชิกใดประเทศหนึ่งเป็นฐานในอาเซียน ประเทศสมาชิกที่มีอนุสัญญามากที่สุดย่อมเป็นตัวเลือกต้นๆ 

    ใช้ถึง  31 ธันวาคม 2559 เริ่ม
 1 มกราคม 2560*
ค่าลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม ศิลปะ หรือ งานวิทยาศาสตร์ใดๆรวมทั้ง ฟิล์มภาพยนตร์หรือ เทป ที่ใช้สำหรับการกระจาย เสียงทางวิทยุหรือทางโทรทัศน์  ร้อยละ 15 ร้อยละ 5
ค่าสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า แบบหรือหุ่นจำลอง แผนผังสูตรลับหรือกรรมวิธีลับใดๆ  ร้อยละ 15 ร้อยละ 8
ค่าเช่า - ร้อยละ 8
ค่าสิทธิอื่นๆ ร้อยละ 15 ร้อยละ 10

*หมายเหตุ : ควรตรวจสอบอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ เพิ่มเติม

© 2024 KPMG Phoomchai Tax Ltd., a Thailand limited liability company and a member firm of the KPMG network of independent member firms affiliated with KPMG International Cooperative (“KPMG International”), a Swiss entity. All rights reserved.

KPMG International Cooperative (“KPMG International”) is a Swiss entity.  Member firms of the KPMG network of independent firms are affiliated with KPMG International. KPMG International provides no client services. No member firm has any authority to obligate or bind KPMG International or any other member firm vis-à-vis third parties, nor does KPMG International have any such authority to obligate or bind any member firm.

Connect with us