Thailand Tax Updates - 21 April 2016

Thailand Tax Updates - 21 April 2016

การประกันสังคมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

1000

Author

Benjamas K.

Tax Advisor

KPMG in Thailand

Email
old-man

วันที่ 13 เมษายน ซึ่งถือเป็นวันผู้สูงอายุในประเทศไทย  ทำให้นึกถึงการเปิดเผยรายงานจากหลายๆหน่วยงานทั้งในและนอกประเทศในเรื่องของการที่ประชาคมโลกกำลังก้าวสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ  มีการคาดการณ์ว่าอีกไม่นานนับจากนี้ทั่วโลกจะมีคนอายุเกิน 65 ปี ถึง 600 ล้านคน  ในเรื่องนี้ประเทศไทยก็มีการตื่นตัวอยู่พอสมควร มีการพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะขาดแคลนแรงงานรวมถึงการพิจารณาที่จะให้มีการกำหนดข้อกฎหมายสำหรับการจ้างงานพนักงานที่เกษียณแล้ว  ทั้งนี้ประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่กำหนดอายุการทำงานไว้เป็นการเฉพาะ  แต่โดยทั่วไปก็จะใช้  60 ปีเป็นเกณฑ์  บางบริษัทก็ใช้ 55 ปีเป็นเกณฑ์ ซึ่งคนในโลกปัจจุบัน วัย 55 ปี ยังมีสุขภาพที่แข็งแรง และทำงานได้สบาย  หน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น กระทรวงแรงงาน  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีการปรึกษาหารือ เพื่อศึกษาแนวทางการขยายโอกาสด้านอาชีพ และการทำงานสำหรับผู้สูงอายุ โดยศึกษาวิธีการจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ เพื่อขยายอายุเกษียณราชการตามความสมัครใจ โดยจะทำการร่างแผนการดำเนินงานเพื่อรองรับร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การจ้างงานผู้สูงอายุ   นอกจากนี้ได้มีหน่วยงานที่ออกมาเสนอแนะว่าอาจใช้มาตรการทางภาษีมาส่งเสริมในเรื่องนี้เพิ่มเติม  ในปัจจุบันประมวลรัษฎากรของไทยก็มีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้สูงอายุในการยกเว้นรายได้อันเนื่องมาจากอายุของผู้มีเงินได้ กล่าวคือถ้าผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ( อยู่ในประเทศไทย 180 วันหรือมากกว่าในปีภาษี ) และมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษี รายได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนเก้าหมื่นบาทจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้   ซึ่งกรณีนี้เป็นกรณีพิเศษสำหรับผู้สูงอายุที่มีเงินได้โดยเฉพาะเลย   อย่างไรก็ดีก็ยังมีเรื่องภาษีอื่นๆอีกเช่น ยกเว้นภาษีเงินได้ที่เป็นเงินหรือผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหากผุ้มีเงินได้ได้รับเงินดังกล่าวจากกองทุนเนื่องจากออกจากงานเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์   สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในประเทศไทยเป็นเรื่องของการสมัครใจทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ในประเทศไทยนายจ้างมักจะจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่พนักงานเพื่อเป็นการจูงใจให้ลูกจ้างทำงานให้กับกิจการ  อย่างไรก็ดีหากลูกจ้างไม่ประสงค์จะเข้าร่วมกับกองทุนฯ ก็สามารถเลือกได้   หรือจะออกจากกองทุนเมื่อไรก็ได้โดยเป็นไปตามข้อบังคับของกองทุน  ทั้งนี้ในกลุ่มสมาชิกอาเซียนประเทศส่วนใหญ่ จะมีระบบประกันสังคมที่นายจ้างและลูกจ้างต้องร่วมกันจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน  จะมีพิเศษก็เฉพาะกัมพูชาที่มีกองทุนที่เรียกว่า National Social Security Fund (NSSF) ที่ให้นายจ้างเท่านั้นที่จ่ายเงินเข้ากองทุน  ประเทศที่ไม่มีระบบประกันสังคมก็คือ สิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย เนื่องจากสามประเทศนี้มีการใช้ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับคือ มีการกำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดการโดยรัฐ ซึ่งเป็นกองทุนภาคบังคับ ต่างจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในประเทศไทย ซึ่งใช้ระบบความสมัครใจของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ในบรูไนมี TAP (Tabung Amanah Perkerja) กับ SCP (Supplemental Contributory Pension Scheme) ขณะที่ มาเลเซียเรียกว่า EPF (Employee’s provident fund) และในสิงค์โปร์เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ  CPS   (Central Provident Fund)  ซึ่งกองทุนที่จัดการโดยรัฐเหล่านี้จะบังคับกับบุคคลที่เป็นคนสัญชาติหรือมีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศนั้นๆ   ดังนั้น หากมีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศเหล่านี้ บางครั้งจะต้องนำเรื่องนี้เข้ามาประกอบการพิจารณาด้วยเพราะแม้บุคคลจะย้ายถิ่นฐานมาทำงานในประเทศอื่นๆ แต่ก็ยังอาจจำเป็นต้องคงสภาพการเป็นสมาชิกของกองทุนดังกล่าวต่อไป เนื่องจากสุดท้ายแล้วบุคคลเหล่านี้ก็จะกลับประเทศของตนซึ่งชีวิตในบั้นปลายก็จะเป็นภาระของประเทศดังกล่าว  นายจ้างแม้ไม่ได้อยู่ในประเทศนั้นๆ ก็อาจจะต้องรับภาระในส่วนนี้ให้ ซึ่งก็จะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการจ้างแรงงาน ในประเทศไทย   ปกติการที่นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเงินสมทบดังกล่าวจะถือเป็นเงินได้พนักงานเมื่อมีการจ่ายเงินออกจากกองทุนให้แก่พนักงานในภายหลัง  แต่ถ้าเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศอื่นแล้วจะเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีของพนักงานทันทีที่นายจ้างจ่ายสมทบ  เนื่องจากไม่ใช่เงินสมทบตามกฎหมายไทย  แต่เปรียบเสมือนเป็นการชดเชยค่าใช้จ่ายให้พนักงานซึ่งถือเป็นเงินได้ชนิดหนึ่ง   ดังนั้นหากกิจการจะมีการจ้างแรงงานจากประเทศทีมีกองทุนในลักษณะดังกล่าวและต้องจ่ายเงินได้เช่นว่าเพื่อเป็นการจูงใจให้พนักงานเหล่านั้นเข้ามาทำงานในประเทศไทยแล้วควรจะต้องดูเรื่องภาระภาษีที่ตามมาด้วย

ประเทศ  ประกันสังคม
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สิงคโปร์ - CPF
ฟิลิปปินส์ มี  -
บรูไน - TAP และ SCP
กัมพูชา นายจ้างจ่ายสมทบเท่านั้น ( NSSF)
-
อินโดนีเซีย มี -
ลาว มี -
มาเลเซีย - EPF
เมียนมา มี -
เวียดนาม มี -
ไทย มี ไม่บังคับ 

Source: KPMG ASEAN TAX GUIDE

© 2024 KPMG Phoomchai Tax Ltd., a Thailand limited liability company and a member firm of the KPMG network of independent member firms affiliated with KPMG International Cooperative (“KPMG International”), a Swiss entity. All rights reserved.

KPMG International Cooperative (“KPMG International”) is a Swiss entity.  Member firms of the KPMG network of independent firms are affiliated with KPMG International. KPMG International provides no client services. No member firm has any authority to obligate or bind KPMG International or any other member firm vis-à-vis third parties, nor does KPMG International have any such authority to obligate or bind any member firm.

Connect with us